ผลงานวิจัยอาจารย์ ม.แม่โจ้ เจ๋ง “ผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ สร้างพลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม”
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ในการพิจารณารางวัลการวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผลงานวิจัย “ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพิจารณารางวัลการวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สร้างพลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ หัวหน้าทีมนักวิจัย เปิดเผยว่า ผลงานวิจัย “ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์” ต้นแบบนวัตกรรมสัญชาติไทยเครื่องแรก ที่ใช้เทคนิคการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกับการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ระบบแรกของประเทศไทย ผลงานวิจัยของอาจารย์ประจำวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทีมงาน ได้รับรางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ในการพิจารณารางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาปริมาณขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่มีปริมาณมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วแล้วทิ้งที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ อีกทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงานได้อีกด้วย ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยมาประมาณ 5 ปี โดยได้มีการลงนามความความร่วมมือกับบริษัทเอกชน จำนวน 3 บริษัท ในการสนับสนุนทุนวิจัยและส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย
ทั้งนี้ ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบขนาดเล็ก มีอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะติดเชื้อประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ด้วยการนำขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคบด ย่อย และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงและถ่ายเทความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ให้แก่น้ำสะอาด ซึ่งนวัตกรรมการถ่ายเทความร้อนภายในห้องเผาไหม้โดยตรงให้แก่ของไหลสะอาด ถือได้ว่าเป็นต้นแบบเตาเผาขยะเครื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย จากนั้นนำความร้อนที่ได้จ่ายให้แก่วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์เพื่อผลิตไฟฟ้า และทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าสุทธิประมาณ 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 20 หน่วยไฟฟ้า และจากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การกำจัดขยะติดเชื้อ 1 กิโลกรัม มีต้นทุนโดยเฉลี่ยตลอดโครงการเพียง 3.185 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องจ้างขนขยะติดเชื้อทางการแพทย์ไปกำจัดกิโลกรัมละประมาณ 10-15 บาท ขึ้นกับระยะทางของโรงพยาบาล รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยตลอดโครงการ 3.302 บาทต่อหน่วย ที่สำคัญสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม