วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบาก แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ภารกิจด้านต่างประเทศ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างวันที่ 10-14 กรกฎาคม 2565 ได้รับเชิญจาก โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบาก แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ สมาคม YMCA เชียงใหม่ ในการไปทำความร่วมมือทางวิชาการเพื่อให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา สนับสนุน กิจกรรมด้านวิชาการ บริการวิชาการ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร อันนำมาซึ่งความก้าวหน้าในด้านวิชาการของสถานศึกษาทั้งสองแห่งร่วมกัน โดยมีระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 11 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ ผศ.ดร.นิกราน หอมดวง คณบดีฯ ผศ.ดร.กิตติกร สาสุจิตต์ รองคณบดี และ อ.ดร.สุระพล ริยะนา อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมฟาร์มฯ โดยมีกิจกรรม ดังนี้

  1. ผศ.ดร.นิกราน หอมดวง ได้ดำเนินการบรรยาย แนวทางการพัฒนาและการสร้างหลักสูตรเทคนิควิชาชีพผสมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่จะนำไปใช้ในการสอนนักศึกษาระดับอนุปริญญาของโรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบาก แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว และได้ร่วมเขียนหลักสูตร เทคนิคสมาร์ทฟาร์ม ร่วมกับคณะครูอาจารย์โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบาก
  2. ผศ.ดร.กิตติกร สาสุจิตต์ ได้ดำเนินการบรรยายในส่วนของการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์) ในการบูรณาการรายวิชาหรือเทคโนโลยีเพื่อบรรจุในรายวิชาในหลักสูตร เทคนิคสมาร์ทฟาร์มและได้ร่วมเขียนหลักสูตร เทคนิคสมาร์ทฟาร์ม ร่วมกับคณะครูอาจารย์โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบาก
  3. ดร.สุรพล ริยะนา ได้ดำเนินการบรรยายในส่วนของการใช้กลุ่มรายวิชา อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ในการบูรณาการรายวิชาหรือเทคโนโลยีเพื่อบรรจุในรายวิชาในหลักสูตร เทคนิคสมาร์ทฟาร์ม และได้ร่วมเขียนหลักสูตร เทคนิคสมาร์ทฟาร์ม ร่วมกับคณะครูอาจารย์โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบาก
  4. การบริการวิชาการด้านพลังงานและสมาร์ทฟาร์มให้กับโรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบาก แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว  อาจารย์จากวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกันบริการวิชาการติดตั้งระบบควบคุมการทำงานระยะไกลให้กับระบบปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ให้กับโรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมน้ำบากร่วมกับ สมาคม วาย.เอ็ม.ซี.เอ. เสาหิน จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ดำเนินการออกแบบ ติดตั้ง ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาระบบควบคุมการทำงานของโรงเรือนร่วมกับการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานควบคู่กับระบบไฟฟ้าปกติของโรงเรียน